ชมวังกรมพระนเรศวรฤทธิ์และชุมชนเลื่อนฤทธิ์ กับ ICOMOS Thailand

Last updated: 22 พ.ย. 2563  | 

ชมวังกรมพระนเรศวรฤทธิ์และชุมชนเลื่อนฤทธิ์ กับ ICOMOS Thailand

หย่งเฟอร์ฯมีโอกาสได้ร่วมชมงานอนุรักษ์โบราณสถานดีๆใกล้ๆ กินอิ่มอร่อย เดินทางสะดวกสบายกับสมาคมอิโคโมสไทย เลยขอเอามาเล่าสู่กันฟัง

ICOMOS คือ สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ มีหน้าที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองโบราณสถานในลักษณะขององค์กรอิสระ NGO สมาคมอิโคโมสไทยก็มีจุดมุ่งหมายนั้นเช่นเดียวกัน ทริปนี้นับเป็นทริปครั้งที่ 55 แล้ว นำชมโครงการอนุรักษ์โบราณสถานในกรุงเทพฯ 2 แห่งคือ วังกรมพระนเรศวรฤทธิ์ และชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ทั้ง 2 แห่งนี้ก็มีเรื่องราวในเรื่องของการอนุรักษ์และบูรณะที่น่าสนใจแตกต่างกัน

วังกรมพระนเรศวรฤทธิ์  หรือที่หลายคนเรียกว่า วังมะลิวัลย์ บนถนนพระอาทิตย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เป็นผลงานการออกแบบของมาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno)สถาปนิกใหญ่ชาวอิตาเลียนแห่งยุครัชกาลที่ 5 (ตามที่พบแบบร่างอาคารพร้อมลายเซ็นกำกับ) วังนี้อาจจะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ดูข้างนอกก็เรียบง่ายมากๆ แต่ด้านในบอกเลยว่า ไม่ธรรมดา





- stunning ด้านนอกดูเรียบง่าย ซ่อนความอลังการไว้ภายใน

- dramatic การใช้คู่สีที่น่าสนใจมากอย่าง แดงหม่น เขียวตุ่น เหลืองไพล และสีฟ้าตามาญโญ สีฟ้าตุ่นอมเขียว ที่พบว่ามาริโอ ตามาญโญใช้บ่อยในผลงานหลายชิ้นที่ฝากไว้





- eclectic การผสมลวดลายแบบตะวันออกอย่างซุ้มประตูที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะเขมร และลายบัวหัวเสา ลายปูนปั้นแบบไทยๆ ให้เข้ากับบ้านแบบตะวันตก และยังพบลายเขียนสีบนผนัง ตามกรอบประตูหน้าต่างภายในหลายห้อง มีทั้งลายอาร์ตนูโวแบบฝรั่งและลายอุบะแบบไทยๆ



- authentic กระเบื้องแผ่นเรียบที่มุงหลังคาวังนี้เป็นกระเบื้องโบราณที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยพบมา เป็นของดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งสร้างวัง กระเบื้องโบราณจะมีความหนาเพียง 3.5 มม. และจะต้องมีตะขอทองแดงแป้นกลมสำหรับยึดแผ่นกระเบื้องเข้าด้วยกัน งานซ่อมอาคารใช้กระเบื้องโบราณที่ทำความสะอาดแล้วปูกลับเข้าไปบนหลังคาตามเดิม ในส่วนที่ชำรุดเสียหายใช้กระเบื้องที่สั่งทำใหม่เลียนแบบของเดิม(แต่หนากว่า) ปูหลังคาใหม่เป็นด้านๆไป

- exquisite บันไดไร้คานที่แสนอเมซิ่ง รวมถึงราวบันไดไม้สักแกะสลักแบบยุโรปที่มีลวดลายละเอียดอ่อนช้อย สวยประณีตมาก



- surprise การค้นพบแนวกำแพงและฐานรากของป้อมอิสินธร ป้อมประจำเมืองที่สาบสูญไป (ปัจจุบันคงเหลือป้อมมหากาฬ ป้อมพระสุเมรุ-ที่สร้างขึ้นใหม่บนฐานเดิม) และมีการนำอิฐเก่าของป้อมที่ขุดพบใต้อาคารกลับขึ้นมาจัดแสดงไว้ภายในห้องในตัววังด้วย



- inherit ในตัวอาคารเราจะพบร่องรอยของความไม่เรียบร้อยที่ถูกตั้งใจทิ้งไว้แบบนั้นในหลายจุด ทั้งรางไฟไม้โบราณ สวิตช์ปลั๊กพัดลมเพดานรุ่นดั้งเดิม(ที่ซ่อมแล้วและใช้งานได้จริง) ลายเขียนสีที่ไม่ต่อเนื่องกัน ช่องเปิดบนพื้นเพื่อลงไปใต้ถุนอาคาร รวมไปถึงมุมรวบรวมกระเบื้องหลังคาที่จัดทำไว้ใต้หลังคา บันทึกสภาพอาคารก่อนและหลังการซ่อม ทั้งหมดนี้เพื่อส่งต่อความรู้ที่ได้มาหรือสิ่งที่สำรวจเจอให้กับคนรุ่นหลังได้เข้าใจง่าย ไม่ต้องเสียเวลาสืบค้นอีก เป็นความตั้งใจอย่างยิ่งยวดของทีมงานที่จะรักษาอาคารเก่าหลังนี้และองค์ความรู้ในการบูรณะอาคารให้อยู่สืบต่อไป







 จากถนนพระอาทิตย์ เดินทางต่อมาที่ถนนเยาวราช มายัง ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ชุมชนนี้ตั้งอยู่ที่แยกถนนเยาวาชตัดกับถนนมหาจักร เยื้องกับเวิ้งนาครเขษมอันโด่งดัง ความน่าสนใจของโครงการคือ เป็นโครงการอนุรักษ์อาคารทั้งย่านที่เกิดจากชุมชนเองล้วนๆ จุดพีคก็คือจะทำอย่างไรให้คนกว่า 150 ครอบครัวที่ยังอยู่อาศัยและค้าขายในพื้นที่ 7 ไร่ตกลงเห็นชอบเหมือนๆกัน เป็นความยากลำบากแสนสาหัส ที่กินเวลากว่าสิบปี


ถนนมังกร หรือ ถนนเยาวราช ตึกด้านซ้ายเป็นทิวแถว คือ เวิ้งเลื่อนฤทธิ์  
ส่วนเวิ้งนาครเขษมอยู่ฝั่งตรงข้าม

- capitalist นายทุน คือจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เมื่อกลุ่มทุนเสนอเจ้าของที่ว่าจะรื้ออาคารทิ้งทั้งแปลง แล้วสร้าง สำเพ็งเทรดเซ็นเตอร์ ขึ้นมา เพื่อให้คุ้มกับค่าที่ดินใจกลางเยาวราช

- unity เมื่อชาวชุมชนตัดสินใจว่าจะไม่ย้าย จึงรวมตัวกันตั้งเป็นบริษัท โดยคนในชุมชนเป็นผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนเงินที่ลงไป

- renovation not demolition เมื่อไม่ย้าย จึงต้องหา solution ที่จะให้พื้นที่มีคุณค่ามากขึ้น บริษัทชุมชนฯเลยได้พันธมิตรอย่าง กรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เป็นทั้งพี่เลี้ยงและป๋าดัน ดันให้ทั้งย่านได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียน ให้สังคมได้รับรู้ว่าพื้นที่นี้มีคุณค่าเกินกว่าจะรื้อทิ้งง่ายๆ




 
- specialist เมื่อมีแผนแล้วก็ถึงคราวที่จะปฏิบัติ action เพื่อให้โครงการเป็นจริง ผู้เชี่ยวชาญในด้านงานบูรณะจึงถูกเชิญและว่าจ้างให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ทั้งทางสถาปัตย์ โบราณคดี ผังเมือง หลังการถกเถียงประชุมไม่รู้ต่อกี่รอบ การลงคะแนนโหวตไม่รู้กี่ครั้ง รายละเอียดโครงการจึงคลอดออกมาในท้ายที่สุด
ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการบูรณะปรับปรุง โดยทีมงานก่อสร้างและผู้ออกแบบต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าไม่เว้นแต่ละวัน เพราะอาคารแต่ละหลังนั้นผ่านเวลาผ่านการต่อเติมมาไม่ซ้ำแบบกันเลย


 
โครงการนี้นอกจากจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแล้ว ยังเป็นกรณีศึกษาเรื่องการปรับตัวของชุมชนเพื่อรับกับเมืองที่เปลี่ยนไป คนรุ่นหลังจะมีโอกาสได้เข้ามาชมความสวยงามที่มีตำนานการต่อสู้ของคนในชุมชนรวมอยู่ด้วย


ขอขอบคุณ สมาคมอิโคโมสไทย ผู้จัดทริป และวิทยากร คุณวทัญญู เทพหัตถี และคุณพีระศรี โพวาทอง ที่กรุณามาให้ข้อมูลและถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีค่ายิ่งให้ได้ฟังกันค่ะ
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้